STUDY ABROAD
ทำไม?ต้องไปเรียนอินเดีย
“อินเดีย” เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาเป็นอันดับ 3 ของโลก
เป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร และการเรียนการสอนใช้ภาษาอังกฤษล้วน
มีสถาบันการศึกษาที่มีมาตรฐานและได้รับการยอมระดับโลก และมีหลักสูตรหลากหลายสาขาทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ โดยมีหลักสูตรยอดนิยมของนักเรียนต่างชาติ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ บริหารธุรกิจ การแพทย์ และศิลปศาสตร์ นอกจากนี้ อินเดียยังขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตโปรแกรมเมอร์อันดับต้นๆ ของโลก หากเทียบกับหลักสูตรอินเตอร์ในเมืองไทย การเรียนที่อินเดียมีค่าเล่าเรียนถูกกว่าหลายเท่า
หลักสูตรการศึกษาของอินเดีย
(CISCE) ICSE Council for the Indian School Certificate Examinations สภาวัดผลการศึกษาในโรงเรียนอินเดีย เป็นคณะกรรมการเอกชน โรงเรียนในระบบ CISCE มีมาตรฐานการวัดผลการศึกษา 2 ระดับ คือ Indian Certificate of Secondary Education (ICSE) for class 10 และ Indian School Certificate (ISC) for class 12 กล่าวง่าย ๆ ก็คือ จะมีการสอบวัดผลตอนมัธยมศึกษาปีที่ 4 และมัธยมศึกษาปีที่ 6
-
ICSE: การสอบวัดผลในระดับเกรด 10 (เทียบเท่ามัธยมศึกษาที่ 4) สภาวัดผลการศึกษาโรงเรียนในอินเดียเป็นผู้ดูแลการสอบและกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนเอาไว้ทั้งหมด ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารในชั้นเรียนจะเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น หลักสูตรของ ICSE จะเริ่มตั้งแต่เกรด 5 (เทียบเท่าประถมศึกษาปีที่ 5) เพื่อเป็นการปูพื้นฐานสำหรับการสอบบอร์ดตอนเกรด 10 (การสอบบอร์ดหมายถึงการสอบประจำปีพร้อมกันทั้งประเทศ)
จุดเด่น คือ นักเรียนสามารถเลือกสายวิชาได้ตั้งแต่เกรด 9 (เทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 3) ว่าจะเรียน สายวิทย์ หรือ สายศิลป์ การเลือกสายวิชาตั้งแต่เด็ก ทำให้สามารถลดจำนวนวิชาที่ต้องเรียน ทำให้ทุ่มเทให้กับวิชาที่เกี่ยวข้องได้อย่างเต็มที่
-
ISC: การสอบวัดผลในระดับเกรด 11 และ 12 นักเรียนจะต้องสอบบอร์ดตอนเกรด 12 ซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะเป็นคะแนนที่มหาวิทยาลัยจะใช้พิจารณารับนักเรียนต่อไป
-
จุดเด่น หลักสูตรนี้ให้ความสำคัญกับทุกวิชาเท่า ๆกัน โดยเน้นภาษาอังกฤษเป็นหลัก นักเรียนที่จบหลักสูตรนี้มักจะใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างดี เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการจะศึกษาต่อต่างประเทศในระดับอุดมศึกษา สามารถสอบ TOEFL และ IELTS ได้ไม่ยาก หลักสูตรนี้เหมาะสำหรับการศึกษาต่อในสาขาศิลป์และด้านบริหาร
(CBSE) Central Board of Secondary Education หรือ คณะกรรมการกลางมัธยมศึกษาในอินเดีย ดูแลหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนในอินเดีย CBSE มีการสอบบอร์ดในระดับเกรด 10 และ 12 เช่นเดียวกัน ได้แก่ The All India Secondary School Examination for Class 10 และ The All India Senior School Certificate Examination for Class 12 หลังจากการสอบบอร์ดเกรด 10 แล้วนักเรียนจะต้องเลือกสาขาวิชาเรียน สายวิทย์หรือสายศิลป์ ซึ่งต่างจากระบบ CISCE ที่สามารถเลือกสายได้ตั้งแต่เกรด 9
จุดเด่น หลักสูตร CBSE จะเน้นด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นหลัก หลักสูตรจะมุ่งสร้างความเข้มข้นทางวิชาการให้นักเรียนสามารถเข้าสอบแข่งขันนระดับต่างๆ ได้ CBSE จึงเหมาะสมกับนักเรียนที่ต้องการจะศึกษาต่อในด้านแพทย์ วิศวะ และด้านที่เน้นการใช้ความรู้สายวิทยาศาสตร์เป็นหลัก
PUC (Pre-University College หรือ Junior College)
หลักสูตร PUC (Pre-University College หรือ Junior College) เป็นหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งกำหนดขึ้นมา โดยมีคณะกรรมการ PUC ประจำรัฐนั้น ๆ เป็นผู้ควบคุม การเรียนการสอนจะรับเฉพาะนักเรียนเกรด 11 และ 12 หรือ ม.5 และ ม.6 เท่านั้น โดยแบ่งการเรียนออกเป็น 3 สายคือ สาย Science, Commerce และ Arts ซึ่งทั้ง 3 สายจะบังคับเรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษารอง และวิชาที่ต้องเรียนในแต่ละสาย
จุดเด่น การเลือกเรียนหลักสูตรนี้จะมีผลสะท้อนว่าในระดับปริญญาตรีผู้เลือกจะต้องเรียนคณะอะไรต่อไป การเรียนในระบบนี้ต้องมีความรับผิดชอบสูงเพราะการควบคุมดูแลคล้ายระบบมหาวิทยาลัย การเข้าห้องเรียนต้องไม่ต่ำกว่า 75% – 85% ตามแต่สถาบันกำหนด
หลักสูตรนานาชาติ
Cambridge Assessment International Education
หลักสูตรอังกฤษ (The National Curriculum)
ถูกจัดตั้งขึ้นมาด้วยเป้าหมายที่ต้องการให้การศึกษาในสหราชอาณาจักรนั้นมีมาตรฐาน เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้เรียนเหมือน ๆ กัน ในทุก ๆ โรงเรียนทั่วประเทศ โดยหลักสูตรอังกฤษนั้นจะกำหนดวิชาที่ครูจะต้องสอน และเกณฑ์มาตรฐานที่นักเรียนจะต้องผ่านในแต่ละวิชา
นักเรียนจะถูกแบ่งตามช่วงอายุ โดยจะมีการจัดกลุ่มช่วงอายุเป็น Key Stage และจะมีหลักสูตรที่จัดทำขึ้นมาสำหรับแต่ละ Key Stage โดยที่ในแต่ละ Key Stage นั้นก็จะมีการวัดผลและการสอบวัดระดับ เพื่อประเมิณและติดตามผลการเรียนทางวิชาการของน้องแต่ละคนครับ
โดยหลักสูตรจะเน้นไปทางการใช้ภาษาที่ถูกต้องมากกว่ากิจกรรมเมื่อเข้าระดับมัธยมต้นน้อง ๆ จะได้ใช้หลักสูตรที่เรียกว่า International General Certificate of Seconondary Education (IGCSE) โดยข้อสอบ IGCSE จะเป็นข้อสอบสากลที่ใช้สอบร่วมกันทั่วโลก สำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศน้อง ๆ ต้องเรียนต่อในช่วงชั้นที่ 5 หรือเรียกว่า Sixth Form เลือกเรียนเฉพาะวิชาที่จะต่อในระดับอุดมศึกษาหลังจบหลักสูตร 2 ปีสุดท้าย
สำหรับการแบ่งช่วงชั้นเรียนของหลักสูตรแบบอังกฤษจะเรียกระดับชั้นเป็น Year กำหนดให้อยู่ระหว่างอายุ 5-16 ปี ได้แก่
-
Early Years (สำหรับเด็กอายุ 3-5 ขวบ)
-
ช่วงชั้นที่ 1 อายุ 5-6 ปี (year 1-2)
-
ช่วงชั้นที่ 2 อายุ 7–10 ปี ( year 3 – year 6)
-
ช่วงชั้นที่ 3 อายุ 11–13 ปี (year 7 – year 9)
-
ช่วงชั้นที่ 4 อายุ 14–16 ปี (year 10 – year 11) และจะต้องสอบเพื่อเข้าเรียน หลักสูตร A-Level 2 ปีเพื่อเตรียมตัวเรียนต่อในมหาวิทยาลัยครับ
IB (International Baccalaureate)
หลักสูตร IB นี้ถือว่าเป็นหลักสูตรสำหรับนานาชาติอย่างแท้จริง โดยจะปลอดพ้นจาก นโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมจากประเทศต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรองรับนักเรียนนานาชาติที่ย้ายมาจากประเทศอื่นหรือย้ายมาจากหลักสูตรอื่น ๆ โดยจะรองรับนักเรียนตั้งแต่อายุ 3-19 ปี การที่โรงเรียนจะเปิดสอนหลักสูตรนี้ได้นั้น โรงเรียนจะต้องได้รับการรับรองจาก องค์กร IBO ก่อน และเราจะเรียกโรงเรียนในกลุ่มนี้ว่า IB World School โดยคุณครูผู้สอนจะต้องได้รับการอบรมจากองค์กร IBO เพื่อให้โรงเรียนหลักสูตร IB นี้มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกครับ
IB เป็นหลักสูตรที่เน้นกระบวนการสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามช่วงพัฒนาการของเด็ก 3 ระดับ สำหรับนักเรียนนานาชาติที่มีอายุ 3-19 ปี เป็นหลักสูตรที่เกิดจากการนำระบบการศึกษาหลากหลายหลักสูตรจากทั่วโลกมาผสมผสานกัน นักเรียนจะเรียนรายวิชาทั้งสิ้น 6 วิชา คือ
-
ภาษาที่หนึ่ง
-
ภาษาที่สอง
-
สังคมศึกษา
-
คณิตศาสตร์
-
วิทยาศาสตร์
-
ศิลปะ
รวมทั้งวิชาเลือกอื่น ๆ นอกจากนี้ยัง ยังมีการเขียน Extended essay รวมถึง Theory of knowledge (การเรียนรู้ด้านปรัชญา จริยธรรมประสาทสัมผัส ควบคู่ไปกับความรู้ทางวิชาการ) ที่นักเรียนจะต้องผ่านด้วย เน้นการเรียนการสอนที่เป็นนานาชาติและสากลที่ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใดในโลกก็ตามจะทัดเทียมกัน ซึ่งจะต้องได้รับการอนุมัติจากองค์กร IBO หรือ International Baccalaureate Organization ให้จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่เรียกว่า International Baccalaureate (IB) และได้รับอนุญาตให้เป็นหนึ่งในกลุ่มโรงเรียน IB World School ซึ่งครูผู้สอนจะต้องได้รับการพัฒนาวิชาชีพ ผ่านการฝึกอบรมซึ่งจัดโดยองค์กร IBO ด้วยเช่นกัน โดยหลักสูตร IB แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
-
ระดับปฐมวัยและประถมศึกษา Primary Years Programme ใช้เวลาเรียน 8 ปี สำหรับนักเรียนอายุ 3-11 ปี
-
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น Middle Years Programme ใช้เวลาเรียน 5 ปี สำหรับนักเรียนอายุ 11-16 ปี
-
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย Diploma Programme ใช้เวลาเรียน 2 ปี สำหรับนักเรียนอายุ 16-19 ปี เพื่อเตรียมการเรียนที่จะมุ่งเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยต่อไป